อาเซียนในปัจจุบัน


ผู้นำอาเซียนได้ลงนามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord LL หรือ Bali Concord LL) เพื่อประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) โดยสนับสนุนการรวมตัวและความร่วมมืออย่างรอบด้าน โดยในด้านการเมืองให้จัดตั้ง ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียนหรือ ASEAN Political Security Community (APSC) ด้านเศรษฐกิจให้จัดตั้ง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) และด้านสังคมและวัฒนธรรมให้จัดตั้ง ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนหรือ ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) ต่อมา ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบให้เร่งรัดการเป็นประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้นกว่าเดิมอีก 5 ปี คือ เป็นประชาคมอาเซียนโดยสมบูรณ์ในปี 2558

- การเป็นประชาคมการเมืองความมั่นคง ปัจจุบันอาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำร่างแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community Blueprint) โดยมีเป้าหมายเพื่อ ก) สร้างประชาคมอาเซียนให้มีค่านิยมร่วมกัน ข) ให้อาเซียนสามารถเผชิญกับภัยคุมคามด้านความมั่นคงในรูปแบบใหม่ และ ค) เสริมสร้างให้อาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ที่หนักแน่นและสร้างสรรค์กับประชาคมโลกโดยมีอาเซียนเป็นผู้นำในภูมิภาค

- การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ปี 2550 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community Blueprint) เพื่อให้อาเซียนมีความสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ และแนวโน้มการจัดทำข้อตกลงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการแข่งขันเพื่อดึงเงินลงทุนโดยตรงซึ่งมีแนวโน้มที่จะถ่ายโอนไปสู่ประเทศอื่นนอกภูมิภาคอาเซียนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาเซียนต้องเร่งรัดการรวมกลุ่มภายในเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็น ตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจ

- การเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้อาเซียนมีสังคมที่เอื้ออาทรและมีความมั่นคง ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีระดับการพัฒนาในทุกด้าน โดยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอาเซียน โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านสังคม (ASEAN Socio-Cultural Community Plan of Action) เพื่อรองรับการเป็นประชาคมซึ่งเน้นใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างประชาคมแห่งสังคมที่เอื้ออาทร (2) แก้ไขผลกระทบต่อสังคมอันเนื่องมาจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (3) ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง และ (4) ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนในระดับรากหญ้า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งรับรู้ข่าวสารซึ่งจะเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนงานการจัดตั้งประชาคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint)