ความร่วมมือด้านสังคมและความร่วมมือเฉพาะด้าน


เป็นความร่วมมือในด้านอื่นที่มิใช่ด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ แรงงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข วัฒนธรรมและสารสนเทศ การศึกษาการขจัดความยากจน การพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน การพัฒนาชนบท การพัฒนาและส่งเสริมสวัสดิการสังคม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านภัยพิบัติ เป็นต้น
- ไทยเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือด้านสังคมเพื่อสันติสุขในภูมิภาค จึงสนับสนุนให้อาเซียนกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย การค้าอาวุธ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจและคอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเป็นกลไก ลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกเก่าและใหม่ของอาเซียนซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน
-ไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือ ASEAN University Network (AUN) เพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาค ขณะเดียวกัน ได้เสนอให้ตั้ง มูลนิธิอาเซียนหรือ ASEAN Foundation เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งยังได้สนับสนุนการจัดทำโครงข่ายรองรับทางสังคม หรือ Social safety nets เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมจากวิกฤตเศรษฐกิจ
- ปี 2544 ไทยผลักดันให้อาเซียนมีมติรับรองการจัดให้มีปีแห่งการปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติดในอาเซียน ระหว่างปี 2545-2546 และสนับสนุนให้มีประชุมยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 รับรองปฏิญญาว่าด้วยเชื้อ HIV เนื่องจากไทยสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาเสพติดปัญหาโรคเอดส์และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระดับภูมิภาค