วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

กรอบยุทธศาสตร์

กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ได้ระบุถึงบทบาทการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมอาเซียน จากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและศักยภาพของแต่ละภาค โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน ดังนี้
(๑) ภาคเหนือ พัฒนาเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน (GMS) และกลุ่มเอเชียใต้ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (NSEC) และแนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) รวมทั้งเชื่อมโยงสู่เมียนม่าร์ และเอเชียใต้ผ่านทางพรมแดนตะวันตกของภาคเหนือ (WEST GATE) โดยเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง สร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก รวมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบเชิงลบจากการเปิดเสรีทางการค้า
(๒) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งต่อยอดและใช้ประโยชน์จากความตกลงต่างๆ ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาเมืองชายแดนและด่านชายแดน ได้แก่ มุกดาหาร หนองคาย นครพนม และอุบลราชธานี ให้เป็นประตูการค้า การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และพัฒนาจังหวัดอุดรธานีและสกลนครให้เป็นเมืองสนับสนุน การเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียตะวันออก พร้อมทั้งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ ที่จังหวัดนครพนมเช่น คลังสินค้า สถานที่จอดรถสินค้า
(๓) ภาคกลาง เป็นประตูการค้าและการขนส่งเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ มาตรฐานการให้บริการและอำนวยความสะดวกบริเวณเขตเศรษฐกิจชายแดน การใช้เมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนม่าร์ โดยพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย ท่าเรือแหลมฉบัง และประเทศอื่นในภูมิภาค
(๔) ภาคใต้ พัฒนาโดยใช้กรอบความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซีย (JDS) และกรอบความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดจีน-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) โดยพัฒนาเมืองชายแดนและเขตเศรษฐกิจชายแดนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาด่านในจังหวัดสงขลา สตูล ยะลา และนราธิวาส เป็นประตูการค้า การท่องเที่ยวและขนส่งกับมาเลเซียและสิงค์โปร์ พัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนสะเดา บูกิตกายูฮิดัม เชื่อมโยงกับเขตการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย พัฒนาทางหลวงพิเศษ (Motor Way) สายหาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย รวมทั้ง พัฒนาทักษะด้านภาษาและฝีมือแรงงานให้พร้อมรองรับการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น