วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

3 เสาหลัก

๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC)มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาภายในภูมิภาคโดยสันติวิธี และยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจะ (๑) ใช้เอกสารทางการเมืองและกลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วในการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทภายในภูมิภาค รวมทั้งการต่อต้านการก่อการร้าย การลักลอบ ค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ และการขจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง(๒) ริเริ่มกลไกใหม่ๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคง และกำหนดรูปแบบใหม่สำหรับความร่วมมือในด้านนี้ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานการป้องกันการเกิดข้อพิพาท การแก้ไขข้อพิพาท และการส่งเสริมสันติภาพภายหลังจากการเกิดข้อพิพาท (๓) ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือด้านนี้ ทั้งนี้ ความร่วมมือข้างต้นจะไม่กระทบต่อนโยบายต่างประเทศ และความร่วมมือทางทหารของประเทศสมาชิกกับประเทศนอกภูมิภาค
๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community: AEC) เป็นเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน ภายหลังการลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนประชาคมเศรษฐกิจมีองค์ประกอบสำคัญคือการเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตร่วมกัน โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมืออย่างเสรี และเงินลงทุนที่เสรีมากขั้น มีความสามารถในการแข่งขันสูง มุ่งสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียน และการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับประชาคมโลก ขนาดของตลาดอาเซียนที่ใหญ่ขึ้น มีอำนาจซื้อสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยให้ชาติสมาชิกสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์
อาเซียนมีโครงการเชื่อมโยงเส้นทางหลวงอาเซียน การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ ผ่านไปยัง มาเลเซีย ไทย กัมพูชา เวียดนามและสิ้นสุดที่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ การปรับมาตรฐานของเส้นทางคมนาคมทางบกและทางรถไฟให้มีมาตรฐานเดียวกันได้ส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนด้านการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นด้วย อาเซียนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคโดยการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) และเริ่มรวมตัวกับประเทศหรือกลุ่มคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ฯลฯ ความเหนียวแน่นใกล้ชิดระหว่างกันจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียนสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้า และการบริการในสาขาที่ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น การท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคาร สุขภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังจะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังอาเซียน ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของอาเซียนในเวทีการค้าโลก และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอาเซียนโดยรวม
๓) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ร่วมกันในสังคมที่เอื้ออาทร ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม (Social security) โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น (๑) การพัฒนาสังคม โดยการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่อาศัยในถิ่นทุระกันดาร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของกลุ่มต่างๆ ในสังคม (๒) การพัฒนาการฝึกอบรม การศึกษาระดับพื้นฐานและสูงกว่า การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างงาน และการคุ้มครองทางสังคม
(๓) การส่งเสริมความร่วมมือในด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เช่น โรคเอดส์ และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (๔) การจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (๕) การส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน นักคิดและศิลปินในภูมิภาค

ประชาคมอาเซียน จึงเป็นความท้าทายและโอกาสใหม่ของประเทศไทย ที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะมีการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในภูมิภาค (Regional Value Chain) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มอำนาจในการต่อรองและการขยายตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า ๕๙๐ ล้านคน ดังกล่าวข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น